ตำแหน่งในราชการ ของ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)

  • วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2453 เป็นนายรองขัน[1]หุ้มแพร ถือศักดินา ๓๐๐
  • วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2454 เป็นนายสุนทรมโนมัย มหาดเล็กหุ้มแพรนายม้าต้น ศักดินา ๔๐๐ [2]
  • วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2455 เป็นนายจ่ายง มหาดเล็กเวรศักดิ์ ถือศักดินา ๖๐๐[3]
  • วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2456 เป็นหลวงศักดิ์นายเวร มหาดเล็กเวรศักดิ์ ถือศักดินา ๘๐๐[4]
  • วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เป็นเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็กต้นเชือกเวรเดช ศักดินา ๑๐๐๐[5]
  • วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2459 เป็น พระยาอนิรุทธเทวา จางวางมหาดเล็ก ศักดินา ๓๐๐๐ [6]

ตำแหน่งในราชการ คงรับราชการในตำแหน่งห้องพระบรรทมตลอดมา จนได้เป็นจางวางห้องที่พระบรรทม ภายหลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยราชการกรมพระอัศวราช[7]อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ และคงดำรงตำแหน่งนี้โดยตลอด จนออกจากราชการ เพราะยุบเลิกและเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ราชการในกรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469

พระยาอนิรุทธเทวา มีความสามารถทางนาฏศิลป์ ในตัวพระลักษมณ์ ได้รับการฝึกหัดท่าละคร จาก พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ครูละครผู้ใหญ่ และยังมีความสามารถในการแสดงละครพูด ละครร้อง อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ด้วย การแสดงละครร้อง ละครพูด นั้น ท่านมักรับบทเป็นตัวนาง

ภายหลังเมื่อออกจากราชการแล้ว พระยาอนิรุทธเทวา คงใช้ชีวิตอยู่กับการบำรุงนาฏศิลป์ มหรสพ ท่านมีคณะละครเป็นส่วนตัวของท่านเองคณะหนึ่ง ชื่อว่า "คณะละครบรรทมสินธุ์" (ตามชื่อบ้านของท่าน) และยังได้ช่วยเหลือดูแล คณะละคร ของ ท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ในรัชกาลที่ 5 อีกส่วนหนึ่งด้วย ภายหลังท่านจึงรับมรดกละครทั้งหมด มาดูแล เมื่อ ท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ถึงพิราลัย ใน พ.ศ. 2486 ซึ่งคณะละครทั้งสองนี้ ได้ก่อกำเนิดบุคคลสำคัญทางวงการนาฏศิลป์เพิ่งขึ้นหลายท่าน บางท่านภายหลังยังได้มารับราชการในกรมศิลปากรต่อมา

พระยาอนิรุทธเทวาและคุณหญิงอนิรุทธเทวา มีความจงรักภักดียิ่งต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะเสด็จสวรรคตไป ทั้งสองก็ยังมีความจงรักภักดีและรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อมีการแสดงละครก็จะกราบบังคมทูลเชิญ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระวรราชเทวีและพระราชธิดาพระองค์เดียว เสด็จมาทอดพระเนตรเพื่อความสำราญพระหฤทัย แม้ในยามวิกฤติ คราวกบฎบวรเดช ทั้งสองพระองค์ถูกเชิญไปประทับเพื่อความปลอดภัยในพระบรมมหาราชวัง ทำให้ไม่ทรงทราบข่าวจากภายนอก ทั้งสองก็อุตสาหะเร้นกายฝ่าวงล้อมทหาร และประตูพระบรมมหาราชวังที่ลั่นดาลไว้ทุกชั้น เข้ามากราบทูลข่าวสารให้ทรงทราบ คราวสงครามโลกทั้งสอง ถุงน่องใยบัวเป็นของหายาก ทั้งสองก็พยายามเสาะแสวงหาเอาไปถวายถึงอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นพยานยืนยันได้ถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เสด็จสวรรคตไปก็ยังจงรักภักดีต่อหน่อเนื้อเชื้อไขที่มีอยู่เพียงพระองค์เดียวของล้นเกล้าล้นกระหม่อม

ถือได้ว่า พระยาอนิรุทธเทวา เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่ง ที่ได้อุปถัมภ์บำรุงนาฏศิลป์ไทยในช่วงที่กำลงตกต่ำ คือ ช่วงหลังสิ้นรัชกาลที่ 6 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตลอดจนช่วงรัฐนิยม ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ดำรงอยู่ไม่เสื่อมสูญไปจากสังคมไทย จนกระทั่ง เมื่อกรมศิลปากรเริ่มฟื้นฟูการแสดงนาฏศิลป์ให้ประชาชนชมอีกครั้ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านก็อุตสาห ไปชมการแสดง และ ช่วยวิจารณ์ในข้อบกพร่องในการแสดง ให้กับกรมศิลปากรอีกหลายครั้ง

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2462/D/...